|
คลิกที่ภาพเพื่อขยาย | |
ประเพณีกำฟ้าพาแลงเป็นประเพณีสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยพวน ซึ่งตำบลบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ประชาชนส่วนใหญ่มีเชื้อสายเป็นชาวไทยพวน ก็ยังสามารถรักษาวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี
กำ ในภาษาพวน หมายถึง การสักการะ
กำฟ้า หมายถึง การสักการะบูชาฟ้า
ซึ่งชาวบ้านรู้สึกสำนึกบุญคุณของฟ้าที่ให้น้ำฝน บุญคุณของผืนดินที่ให้ปลูกข้าว พาแลง หมายถึงพาข้าวสำหรับรับประทานอาหารตอนเย็น ซึ่งจะจัดขึ้นในตอนเย็นของวันกำฟ้า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง บ้านใกล้เรือนเคียงหรือผู้มาเยือนมาร่วมกันรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากัน ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว ของหมู่บ้าน และตำบลในการรับฟังปัญหา การแก้ไขปัญหาร่วมกัน วันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 เป็นวันกำฟ้า ก่อนวันกำฟ้า 1 วัน คือวันขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 จะถือเป็นวันสุกดิบแต่ละบ้านจะทำข้าวปุ้น หรือ ขนมจีน พร้อมทั้งน้ำยา และน้ำพริกไว้เลี้ยงดูกัน มีการทำข้าวหลาม มีการทำข้าวจี่ ฯ พอถึงวันกำฟ้าทุกคนในบ้านจะไปทำบุญที่วัด มีการใส่บาตรด้วยข้าวหลาม ข้าวจี่ ทำพิธีสักการะสำนึกบุญคุณ ของฟ้า น้ำ แผ่นดิน ข้าว ฯ ตกตอนบ่ายจะมีการจัดพาแลง และการละเล่นไปจน ถึงกลางคืน การละเล่นที่นิยมได้แก่ ต่อไก่ ลูกช่วง นางด้ง นางกวัก ฯลฯ
เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกล้วย จึงได้ร่วมมือกับฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สภาวัฒนธรรม ส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในตำบลบ้านกล้วย จัดทำโครงการประเพณีกำฟ้าพาแลง ประจำปี พ.ศ. 2566 ขึ้น โดยใช้สถานที่วัดกัทลีพนาราม (วัดบ้านกล้วย) เป็นศูนย์กลางการจัดงาน
ข่าว ณ. วันที่ 20 ก.พ. 2566 เวลา 16.09 น. โดย สำนักงานปลัด
ผู้เข้าชม 39 ท่าน | |